วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2555


การออกแบบงานกราฟิก


                กราฟิกเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการวาดภาพ การใช้ลายเส้น และตัวอักษรเพื่อการสื่อความ หมาย เป็นพื้นฐานการออกแบบตกแต่งสื่อประเภททัศนวัสดุทุกชนิดหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่รับรู้ได้ด้วยตา ในวงการการศึกษา งานกราฟิกเข้ามามีบทบาทในการออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ทุกชนิด  เช่น  หนังสือ  ตำรา  วารสาร  จุลสาร  รวมถึงการออกแบบสื่อทัศนูปกรณ์เพื่อการสื่อสารโฆษณาและประชาสัมพันธ์  เช่น ภาพโฆษณา  ป้ายประชาสัมพันธ์  ป้ายนิเทศ  การออกแบบกราฟิกที่ดีจะช่วยให้ทัศนวัสดุแลดูสวยงาม  ดึงดูดความสนใจ  และสื่อความหมายได้ตามวัตถุประสงค์


หลักการออกแบบ

                การออกแบบงานกราฟิกให้มีประสิทธิภาพ  ควรคำนึงถึงพื้นฐานองค์ประกอบศิลป์ที่สำคัญ ได้แก่  เส้น  สี  พื้นผิว  ขนาด  รูปร่าง  รูปทรง  แต่ละองค์ประกอบสามารถสื่อความหมายเฉพาะในตัวมันเอง  เมื่อนำมาจัดประกอบกันเข้าให้สอดคล้องกับเรื่องราวก็จะทำให้ได้สื่อทัศนวัสดุที่มีคุณ ภาพดีสวยงามและสามารถใช้งานให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพการจัดองค์ประกอบ ให้น่าสนใจและสื่อความหมายได้ดีควรยึดหลักการออกแบบที่สำคัญ ได้แก่ การสร้างความสมดุล  เอกภาพ  การเน้น  ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้


            1.   องค์ประกอบศิลป์

                        องค์ประกอบศิลป์ได้แก่
                       1.1   เส้น (Line)  สื่อความหมายเกี่ยวกับ  ทิศทาง  ระนาบ  แนว  ซึ่งลักษณะของเส้นแต่อย่างให้แสดงความหมายแตกต่างกันดังนี้
                                เส้นตรงตั้งฉาก  ให้ความรู้สึกแข็งแรง  มั่นคง  กล้าหาญ  สง่าผ่าเผย
                                เส้นตรงแนวนอน  ให้ความรู้สึกสงบนิ่ง  ราบเรียบ  กว้างออก
                                เส้นเฉียง   ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหว   รวดเร็ว   ไม่มั่นคง
                                เส้นโค้ง  ให้ความรู้สึกนุ่มนวล  อ่อนช้อย  น่ารัก  ไม่แข็งแรง
                                เส้นซิกแซ็ก  ให้ความรู้สึกสับสน  อันตราย  ไม่แน่นอน
                                เส้นประ  ให้ความรู้สึกสงสัย  ไม่แน่นอน  ลึกลับ  ไม่ถาวร
                       1.2 รูปร่างและรูปทรง (shape and form) เป็นรูปภาพลักษณะ 2 มิติที่เกิดจากการลากเส้นจากจุดเริ่มต้นไปในทิศทางที่ต้องการแล้วกลับมาบรรจบที่จุดเดิม ส่วนรูปทรงมี 3 มิติโดยเพิ่มความลึกหรือความหนาอีกมิติหนึ่ง   รูปร่างแต่ละลักษณะสื่อความหมายแตกต่างกันดังนี้
                                รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส  ให้ความรู้สึกมั่นคง  เคร่งเครียด  อยู่กับที่ 
                                รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ให้ความรู้สึกสง่างาม  มั่นคง  เป็นกันเอง
                                รูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน  ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหว  ไม่แน่นอน
                                รูปวงกลม  ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหว  ไม่แน่นอน  ไม่มั่นคง
                                รูปวงรี  ให้ความรู้สึกอ่อนช้อย  นุ่มนวล  ไม่เป็นระเบียบ
                                รูปสามเหลี่ยม  ให้ความรู้สึกมั่นคง  เคลื่อนไหวเล็กน้อย

                 1.3 พื้นผิว (Texture) เป็นคุณลักษณะของพื้นผิวส่วนนอกของวัตถุ  สามารถรับรู้ได้ทางผิวกายสัมผัสและทางตา  พื้นผิวแต่ละลักษณะสื่อความหมายแตกต่างกันดังนี้
                                พื้นผิวหยาบ  ให้ความรู้สึกไม่เรียบร้อย  สมถะ  เชื่องช้า
                                พื้นผิวละเอียด  ให้ความรู้สึกเรียบร้อย  บอบบาง  ไม่มั่นคง
                                พื้นผิวด้าน  ให้ความรู้สึกนิ่ง  ไม่เคลื่อนไหว  เป็นปึกแผ่น
                                พื้นผิวมันวาว  ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหว  ไม่อยู่นิ่ง  เร่าร้อน
                                พื้นผิวขรุขระ  ให้ความรู้สึกไม่เรียบร้อย  ต่ำต้อย  มีอุปสรรค

                       1.4  ขนาด (size) เป็นความรู้สึกที่เกิดจากการเปรียบเทียบสิ่งเร้ามากกว่าหนึ่งอย่างขึ้นไป  สิ่งเร้าที่มีขนาดใหญ่จะทำให้เรารับรู้ได้ชัดเจนกว่าสิ่งเร้าขนาดเล็ก  แต่การนำมาใช้งานให้ได้ผลดีย่อมขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และความกลมกลืนของเรื่องราว ขนาดเป็นความสัมพันธ์ระหว่างรูปกับพื้นเสมอ กล่าวคือเมื่อรูปมีขนาดใหญ่พื้นจะเหลือน้อยหรือเล็กลง แต่ในทางตรงกันข้ามหากรูปมีขนาดเล็กลงพื้นจะกว้างหรือใหญ่ขึ้น ดังนั้นขนาดขององค์ประกอบจึงมีอิทธิพลทำให้ผู้ชมรู้สึกอัดอึด โล่งสบาย หรืออ้างว้างได้ การออกแบบงานกราฟิกเกี่ยวกับเรื่องขนาดให้ดูเหมาะสมกับเรื่องใด ๆ ก็ตามควรคำนึงถึงทฤษฎีของความกลมกลืนที่ว่าขนาดที่ใกล้เคียงกันจะดูเป็นพวกเดียวกันกลม กลืนกัน  แต่หากขนาดที่ต่างกันมากจะให้ความรู้สึกตัดกันเป็นคนละพวกกัน

                 1.5  สี (color)  เป็นสิ่งเร้าที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้  ทำให้เรามองเห็นความแตกต่างและจำแนกสิ่งแวดล้อมได้ชัดเจน  และเมื่อทำหน้าที่ควบคู่ไปกับองค์ประกอบอื่น ๆ ก็จะยิ่งทำเรารับรู้และเรียนรู้สิ่งนั้น ๆ ได้แม่นยำยิ่งขึ้น  สีทำหน้าที่ได้ดีที่สุดในการสื่อความหมายเกี่ยวกับความรู้สึกอิ่มเอิบ  ทึบตัน  ซึมเศร้า 
                                1.5.1   วรรณะของสี   โดยทั่วไปสีสามารถกระตุ้นให้เรารับรู้ได้  2  ความรู้สึก  ได้แก่  รู้สึกอุ่น  เร่าร้อน  ตื่นเต้น  เรียกว่า สีวรรณะร้อน (warm tone)  และรู้สึกสงบเย็น  ร่มรื่น  สบาย  เรียกว่า สีวรรณะเย็น(cold tone)อย่างไรก็ดีสีทั้งสองวรรณะสามารถนำมาเรียงให้ต่อเนื่องตามลำดับได้เรียกว่าวงล้อสี (color  wheel)

จากวงล้อสีจะเห็นได้ว่า สีที่ต่าง ๆ เกิดจากการผสมกันของคู่สีเป็นขั้นๆ ดังนี้
                สีขั้นที่ 1  (primary  color) ได้แก่แม่สี 3 สีคือ แดง  เหลือง  น้ำเงิน
                สีขั้นที่ 2  (secondary  color) คือสีที่ได้จาก การผสมกันของแม่สีในอัตราส่วนเท่า ๆ กันมี 3 สี ไดแก่  ม่วง (แดง + น้ำเงิน)   ส้ม (แดง + เหลือง)  และเขียว (น้ำเงิน + เหลือง)
                สีขั้นที่ 3  (tertiary  color) คือสีที่ได้จากสีขั้นที่ 1  ผสมกับสีขั้นที่ 2 ที่อยู่ใกล้เคียงกันทำให้ได้สีขั้นที่ 3 เป็น  6  สีได้แก่  ม่วงแดง(ม่วง + แดง)   ม่วงน้ำเงิน(ม่วง + น้ำเงิน)  เขียวน้ำเงิน(เขียว + น้ำเงิน)  เขียวเหลือง(เขียว + เหลือง)  ส้มเหลือง(ส้ม + เหลือง)  ส้มแดง(ส้ม + แดง)

                                1.5.3  จิตวิทยาการใช้สี  เป็นการนำสีมาใช้ในงานต่าง ๆ โดยคำนึงถึงอิทธิพลของสีที่มีต่อการรับรู้ ซึ่งแต่ละสีให้ความรู้สึกในการรับรู้แตกต่างกัน ดังนี้
                                สีม่วง ให้ความรู้สึก เย็นตา เงียบขรึม สุภาพอ่อนโยน
                                สีม่วงน้ำเงิน ให้ความรู้สึกลึกลับ  ไม่เปิดเผย  ผิดหวัง
                                สีน้ำเงิน ให้ความรู้สึกอดทน สุขุม ซื่อสัตย์  มั่นคง
                                สีเขียวน้ำเงิน ให้ความรู้สึกสันติสุข  สงบ  สุขุม    ลุ่มลึก
                                สีเขียว ให้ความรู้สึก สงบสบาย ปลอดภัย ร่มรื่น  ซื่อสัตย์
                                สีเขียวเหลือง ให้ความรู้สึก ไม่ร่าเริงสดใส    ความขลาด
                                สีเหลือง  ให้ความรู้สึกสว่าง  ร่าเริงมีชีวิตชีวา  บริสุทธิ์ 
                                สีส้มเหลือง  ให้ความรู้สึกร้อน  ไม่สงบ  ดิ้นรน  
                                สีส้ม ให้ความรู้สึก ร้อนแรง  สะดุดตา  ระวัง  ไม่อยู่นิ่ง
                                สีส้มแดง ให้ความรู้สึก กล้าหาญ  เด่นชัด  รุ่มร้อน
                                สีแดง  ให้ความรู้สึก ตื่นเต้น  อันตราย  กล้าหาญ จริงจัง
                                สีม่วงแดง ให้ความรู้สึกสง่างาม กล้าหาญ ความสามัคคี

            2.   การจัดองค์ประกอบศิลป์

                       การจัดองค์ประกอบศิลป์หมายถึง การนำองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น  เส้น สี  พื้นผิว  รูปร่าง  รูปทรง  ขนาด มารวมกันอย่างมีแบบแผน ทำให้เกิดจังหวะและสัดส่วนกลมกลืนสอดคล้องกับเนื้อหาและวัตถุประสงค์  ส่งผลทำให้งานกราฟิกนั้น ๆ มีคุณค่าสมบูรณ์สามารถสื่อความหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ   การจัดองค์ประ กอบศิลป์ที่ดีควรยึดหลักการสำคัญดังนี้

                       2.1   การสร้างความสมดุล (balance)

                       เป็นการจัดสัดส่วนองค์ประกอบให้เหมาะสมพอดีกันทุกแง่มุมดูแล้วสบายตา  และเข้าใจได้โดยง่าย  ความสมดุลมี 2 แบบ คือ
                                 2.1.1   ความสมดุลแบบสมมาตร  (symmetry  balance)   เป็นการจัดภาพให้ด้านซ้ายและขวาเท่ากัน บางทีเรียกการจัดแบบนี้ว่า  การจัดภาพแบปกติ (formal balance)โดยใช้เส้นสมมุติผ่านแนวกึ่งกลางทำให้ภาพทั้ง 2 ด้านมีลักษณะเหมือนกันทุกประการ เช่น ภาพด้านหน้าของโบสถ์   ภาพพระพุทธรูปด้านหน้า  ภาพแบบนี้ให้ความรู้สึกนิ่งเฉย  เคร่งเครียด  ตรงไปตรงมา  เหมาะกับงานที่เป็นจริงเป็นจัง  เช่น งานราชการ  งานศาสนา  ความมั่นคง  เชื่อถือศรัทธา  การจัดภาพแบบนี้ทำได้ง่ายแต่จะรู้เบื่อเร็วกว่าแบบอื่น
                                2.1.2  ความสมดุลแบบอสมมาตร (asymmetry  balance)  เป็นการจัดภาพที่ด้านซ้ายและด้านขวาไม่เท่ากัน  บางทีเรียกว่า การจัดภาพไม่ปกติ (informal balance) การจัดภาพแบบนี้ทำได้ยากกว่าแบบแรก แต่ภาพที่ได้จะดูสนุกสนานมีชีวิตชีวา ไม่นิ่งเฉย  ท้าทาย  ยืดหยุ่น เป็นกันเอง  เช่น ภาพด้านซ้ายมีลูกแมว 3 ตัว ด้านขวามีแม่แมว 1 ตัว  การจัดภาพแบบนี้เหมาะกับงานที่ต้องการความเป็นอิสระ  ร่าเริง  ไม่เป็นทางการ  เช่น  การท่องเที่ยว  ศิลปวัฒนธรรม  ดนตรี  วิถีชีวิต  ภาพแบบนี้จะจัดให้ดีได้จังหวะเหมาะสมต้องอาศัยประสบการณ์พอสมควร

                       2.2  ความเป็นเอกภาพ (unity)

                       เป็นการจัดภาพให้มีความสัมพันธ์เป็นกลุ่มเป็นหมวดเดียวกัน  ดูแล้วความกลมกลืนสอดคล้องกันทั้งด้านภาพและเนื้อหาแนวคิด  เช่น  การจัดป้ายนิเทศเรื่อง การอนุรักษ์ธรรมชาติ การออกแบบเป็นแบบอสมมาตร  มีทั้งต้นไม้เล็กและใหญ่  ป่าไม้หลายแบบหลายมุม  สัตว์ป่าน่ารักหลายชนิด จัดภาพให้มีมิติตื้นลึกเหมือนธรรมชาติ สีโดยรวมเป็นสีวรรณะเย็น  เนื้อหาเป็นการรณรงค์เชิญชวนให้เห็นความสุขและประโยชน์ในการอนุรักษ์  วัสดุที่ใช้เป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ  หลีกเลี่ยงวัสดุสังเคราะห์ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้

                       2.3   การเน้น (emphasis)

                       การออกแบบงานกราฟิกที่ดีนอกจากการเลือกรูปแบบให้เหมาะกับเนื้อหาแล้ว  ยังต้องสร้างความประทับใจให้ผู้เรียนหรือผู้ชมจดจำสิ่งที่รับรู้และเรียนรู้ไปให้นานแสนนาน  โดยการเน้นเพื่อย้ำด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น  สี  ขนาด  พื้นผิว  เส้น  ทิศทาง  รูปร่าง  รูปทรง  ซึ่งอาจเน้นเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างก็ได้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละเรื่อง  นอกจากนี้อาจเน้นด้วยตำแหน่งตามกฎ 3 ส่วนคือ การแบ่งพื้นที่งานออกเป็น 3 ส่วนทั้งแนวตั้งและแนวนอน  จะเกิดจุดตัดกัน 4 จุด  สิ่งที่ต้องการเน้นเพื่อเป็นจุดเด่นสามารถวางตรงตำแหน่งใดก็ได้ภายในจุดดังกล่าว

            3.   วัสดุที่ใช้ในงานกราฟิก

                กราฟิกเป็นความคิดเกี่ยวกับการจัดองค์ประกอบศิลป์ให้สวยงามเหมาะกับแต่ละงาน  แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นรูปธรรมด้วยวัสดุต่าง ๆ เช่น  กระดาษ  สี  ดินสอ  ปากกา  และวัสดุอื่น ๆ ซึ่งแต่ละอย่างมีรายละเอียดดังนี้




                      3.1   กระดาษ

                       กระดาษเป็นวัสดุเก่าแก่มีมาตั้งแต่โบราณกาลทำจากเยื่อไม้มีหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดมีคุณ สมบัติและคุณ ภาพในการใช้งานแตกต่างกันดังนี้
                              3.1.1  กระดาษโปสเตอร์ เป็นกระดาษพื้นสีที่มีเยื่อกระดาษไม่เหนียวมากเท่าที่ควรโดย ทั่วไปใช้กับงานโฆษณา  ป้ายนิเทศ  หรือสื่อการสอน  กระดาษโปสเตอร์มี 2 ชนิดคือ  ชนิดหนามีหน้าเดียว  เหมาะกับการเขียนโปสเตอร์  บัตรคำ  ทำกล่อง  และชนิดบางมี 2  หน้า เหมาะกับงานป้ายนิเทศ  การฉีกปะติด  การพับเป็นรปต่าง ๆ  เป็นต้น  ทั้ง 2 ชนิดใช้กับสีโปสเตอร์ได้ดี
                                3.1.2   กระดาษหน้าขาวหลังเทา   นิยมเรียกว่า  กระดาษเทา- ขาว  เหมาะกับการทำบัตรคำ  แผนภูมิ  แผนภาพ  พื้นภาพผนึก  กล่องที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก  การใช้งานนอกจากเขียนด้วยพู่กันกับสีโปสเตอร์แล้ว  ยังสามารถเขียนด้วยปากกาเมจิก  ปากกาหมึกซึมให้สวยงามได้ด้วย
                                3.1.3   กระดาษวาดเขียน  เป็นกระดาษที่มีความหนาหลายขนาด เช่น 80 ปอนด์  100 ปอนด์เยื่อกระดาษไม่แน่นทำให้ดูดซับน้ำได้ดี  เหมาะกับวาดภาพด้วยดินสอ  ปากกา  และสีน้ำ  หากจะวาดสีน้ำนิยมใช้ชนิด  100  ปอนด์ด้านที่มีผิวขรุขระจะได้ภาพสีน้ำที่ซึมไหลสวยงาม
                                3.1.4   กระดาษชาร์ทสี  เป็นกระดาษที่มีผิวมันเรียบเยื่อกระดาษแน่นกว่ากระดาษโปสเตอร์และกระดาษวาดเขียน  โดยทั่วไปเป็นสีอ่อนทั้งสองด้าน เช่น เขียวอ่อน  เหลืองอ่อน  ฟ้าอ่อน  ชมพูอ่อน  เหมาะกับการจัดป้ายนิเทศ  ฉีกปะติด  ตัดเป็นริ้วยาว  พับเป็นรูปทรงต่าง ๆ
                                3.1.5   กระดาษอาร์ตมัน  เป็นกระดาษที่มีผิวมันเยื่อแน่นเหนียว  ไม่ค่อยดูดซับน้ำ  พื้นสีขาวความหนามีหลายขนาด  เหมาะกับงานพิมพ์ปกหรือภาพประกอบหนังสือ  เอกสารที่ต้องความทนทาน  ต้นฉบับงานพิมพ์  ถ้าเป็นชนิดหนาสามารถพับเป็นกล่องที่ขนาดไม่ใหญ่มากได้
                                3.1.6  กระดาษปอนด์  เป็นกระดาษชนิดบางเยื่อกระดาษไม่แน่น  สีขาว  ที่ขายในท้องตลาดมักจะเป็น 70 -  80 แกรม  นิยมใช้กับงานพิมพ์เอกสารทุกระบบ  เช่น  งานออฟเซ็ท  งานโรเนียว  กอปปี้ปริ้นท์  สามารถเขียนด้วยปากกาเมจิก  และสีโปสเตอร์ได้ดี  แต่ไม่เหมาะกับสีน้ำ
                                3.1.7  กระดาษลูกฟูก  เป็นกระดาษที่มีลักษณะหนามาก  โครงสร้างตรงกลางเป็นลูกฟูกประกบด้านหน้าและด้านหลังด้วยกระดาษผิวเรียบ  ทำให้แข็งแรงกว่ากระดาษชนิดอื่นเหมาะกับทำสื่อการสอนประเภทการกล่องหรืองานโครงสร้างรูปร่างรูปทรงที่คงทน





                   3.2   สี

                         สีที่ใช้ในงานกราฟิกมีหลายชนิด  สามารถจำแนกได้หลายวิธีดังนี้

                                3.2.1      จำแนกตามคุณสมบัติของวัตถุที่ใช้ผสม
                                                1)   สีเชื้อน้ำ   เป็นสีที่ใช้น้ำเป็นส่วนผสมและล้างทำความสะอาดมีดังนี้
                                                สีน้ำ   มีคุณสมบัติบางใส  ชนิดเหลวบรรจุในหลอดส่วนชนิดแห้งบรรจุในกล่อง  ผสมและล้างด้วยน้ำสะอาดระบายด้วยพู่กัน  ใช้ระบายภาพบนกระดาษสีขาวหรือกระดาษวาดเขียนเท่านั้น หากเป็นกระดาษสีหรือกระดาษโปสเตอร์จะเห็นภาพไม่ชัดเจน  นอกจาก นี้สีน้ำไม่เหมาะสำหรับเขียนตัวอักษรหรือข้อความเพราะเนื้อสีบางมองไม่ชัดเจน
                                                สีโปสเตอร์   เป็นที่มีเนื้อสีหยาบกว่าสีน้ำ  คุณสมบัติเป็นทึบปานกลาง  เป็นสีที่ใช้ง่ายเหมาะกับการทำสื่อการสอนได้ดี สามารถทาระบายทับสีเดิมที่แห้งแล้วได้บ้างแต่ไม่สนิทนัก วัสดุเขียนใช้ได้ทั้งพู่กันกลมและพู่กันแบน  ใช้เขียนบัตรคำ  สื่อโปสเตอร์  ภาพประกอบ  แผนภูมิ  แผนภาพ  แผนสถิติ
                                                สีพลาสติก  เป็นสีเชื้อน้ำที่มีเนื้อสีหยาบและเข้มข้นกว่าสีโปสเตอร์  ส่วน ผสมสำคัญคือโพลี  ไวนีล  อาซิเตท (poly  vinyl  acetate  หรือ  PVA) มีคุณ สมบัติเฉพาะคือขณะที่เปียกสามารถละลายหรือล้างทำความสะอาดได้ด้วยน้ำ  แต่ถ้าแห้งแล้วไม่สามารถจะล้างให้หลุดออกได้  เป็นสีมีความทนทานต่อแสงแดดและฝน  สามารถทาระบายทับสีเดิมที่แห้งแล้วได้สนิท  เหมาะกับงานที่มีพื้นที่กว้างใหญ่  เช่น ไม้อัด  ผนังปูน  ผืนผ้า  นิยมทาระบายสีอาคารทั้งภายนอกและภายใน
                                                สีฝุ่น  เป็นสีที่มีเนื้อสี (pigment) เป็นผง  ราคาถูก การใช้งานต้องผสมกับน้ำกาวโดยการคนหรือกวนให้เข้ากัน  ทาระบายกับวัสดุที่เป็นผ้า  ไม้อัด  ผนังปูน  ส่วนใหญ่เป็นงานที่ไม่ถาวรนัก  เช่น  ฉากละคร  ฉากเวที  คัตเอาท์  เป็นต้น
                                                สีหมึก    บางครั้งเรียกว่า  หมึกสี  มีคุณสมบัติทั้งโปร่งแสงและทึบแสง หมึกที่ใช้ในการเขียนภาพจะบรรจุในขวดเล็ก ๆ   หมึกเขียนแผ่นโปร่งใสหรือแผ่นอาซีเตท  ส่วนหมึกทึบแสง  ได้แก่  หมึกอินเดียนอิงค์  และหมึกดำใช้กับปากกาเขียนแบบ
                                                2)    สีเชื้อน้ำมัน  เป็นสีที่ใช้น้ำมันเป็นส่วนผสมหรือละลายล้างได้มีดังนี้
                                                สีน้ำมันสำหรับเขียนภาพ   มีเนื้อสีละเอียด บรรจุในหลอดหลายขนาด  ผสมด้วยน้ำมันสินสีด (Lin  Seed) การทำความสะอาดอาจจะล้างด้วยน้ำมันกาดหรือน้ำมันเบนซินก็ได้  สามารถเขียนได้กับผ้าใบ  ผนังปูน  ไม้   สีชนิดนี้มีความทนทานสูง
                                                สีน้ำมันสำหรับทาระบาย  ส่วนใหญ่บรรจุในกระป๋องขนาดต่าง ๆ ตั้งแต่ขนาด  0.1  ลิตร  จนถึง  18  ลิตร  ผสมด้วยทินเนอร์ หรือ น้ำมันสน  เหมาะกับการทาระบายวัสดุที่มีพื้นที่กว้าง  เช่น  ผนังปูน  ไม้ฝา   รั้ว  เฟอร์นิเจอร์  สีชนิดนี้เมื่อแห้งแล้วจะติดทนนานมาก

                                3.2.2    จำแนกตามลักษณะการใช้งาน
                                            1)   สีที่ใช้สำหรับเขียน  เป็นสีที่มีคุณสมบัติข้นเหลว  ก่อนใช้งานต้องผสมกับตัวทำละลายให้เหมาะการเขียนได้แก่  สีน้ำ  สีโปสเตอร์  สีพลาสติก  สีน้ำมัน  สีฝุ่น  การใช้งานขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของวัสดุ  รูปแบบ  คุณภาพ และจำนวนชิ้นงาน สีเหล่านี้อาจใช้ในการพ่นก็ได้แต่ต้องผสมตัวทำละลายให้เหลวมากกว่าการเขียน
                                                2)   สีที่ใช้สำหรับงานพิมพ์   มีทั้งสีเชื้อน้ำและสีเชื้อน้ำมัน  สีพิมพ์เชื้อน้ำนิยมพิมพ์บนวัสดุที่เป็นผ้าโดยใช้แม่พิมพ์เป็นฉากกั้นแล้วปาดสีผ่านไปยังผ้าที่อยู่ด้านล่าง  วิธีนี้ใช้ได้ทั้งสีเชื้อน้ำและสีเชื้อน้ำมัน  ส่วนการพิมพ์ที่ใช้แม่พิมพ์กระทบ  กด  อัด (press) กับวัสดุรองรับมักจะใช้สีน้ำมันที่มีคุณสมบัติเข้มข้นและแห้งเร็ว

                                3.2.3     จำแนกตามคุณสมบัติทางกายภาพ
                                              1)   สีแห้ง  มีลักษณะเป็นแท่ง  แผ่น  ก้อน ได้แก่  สีเทียน  สีไม้  สีชอล์ค   สีเหล่านี้ใช้ง่ายเหมาะสำหรับผู้เรียนในระดับชั้นประถมศึกษา
                                                2)   สีฝุ่น  เป็นสีแห้งแต่มีเนื้อสีเป็นผงฝุ่น  มีทั้งสีย้อมและสีเขียนทาระบาย  สีฝุ่นสำหรับงานเขียนก่อนใช้งานต้องผสมกับน้ำกาวก่อนเสมอ
                                                3)   สีเหลว  เป็นสีที่มีเนื้อสีข้นเหลวบรรจุในหลอดหรือกระป๋อง ได้แก่  สีน้ำ  สีน้ำมัน  สีพลาสติก  สีอะไครลิก
                                                4)  หมึกสี เป็นสีที่มีคุณสมบัติเป็นน้ำบรรจุในขวด  นิยมใช้ในการออก แบบเขียนภาพทิวทัศน์  สิ่งประดิษฐ์  และสิ่งก่อสร้าง
                                                5)  สีของแสง  หรือที่เรียกว่า  สีทางฟิสิกส์  ส่วนใหญ่ใช้ในงานด้านวิทยาศาสตร์  อิเล็คทรอนิคส์  เช่น  งานโทรทัศน์  งานคอมพิวเตอร์  เป็นต้น

                  3.3  วัสดุขีดเขียน

                       วัสดุขีดเขียนที่ใช้ในงานกราฟิกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ วัสดุแข็ง  และวัสดุอ่อน
                                3.3.1   วัสดุแข็ง  ได้แก่  ปากกาและดินสอชนิดต่าง ๆ ดังนี้
                                                1)   ปากกาปลายแหลม  ปลายปากกทำด้วยโลหะ ใช้จุ่มหมึกเขียนลายเส้นขนาดเล็กมาก  เหมาะกับงานต้นแบบลายเส้นที่มีรายละเอียดมาก
                                                2)  ปากกาปลายสักหลาด  ปลายปากกาทำด้วยสักหลาดแข็ง  มีทั้งชนิดปลายกลมและปลายตัด  มีหลายสีบรรจุในกล่องใช้ได้ทั้งงานเขียนภาพและตัวอักษร
                                                3)  ปากกาเขียนแบบ  เป็นปากกาคุณภาพดี  มีหลายขนาดตั้งแต่เส้นเล็กมากถึงเส้นใหญ่  ใช้กับหมึกที่มีความข้นกว่าหมึกทั่วๆไป
                                                4)  ปากกาเขียนทั่วไป  มีทั้งชนิดหมึกน้ำและหมึกเหลว หรือที่เรียกว่า ปากกาลูกลื่นมีขายในท้องตลาดทั่วไป  ใช้ในการจดบันทึกและเขียนภาพลายเส้นได้ด้วย
                                                5)   ดินสอดำ  ใช้ในงานร่างแบบ เขียนรูป ภาพลายเส้น  ภาพแรเงา มีคุณสมบัติเข้มและอ่อนต่างกัน ซึ่งกำหนดเป็นตัวเลขและตัวอักษรไว้ดังนี้
                                                H (Hard)  เป็นดินสอที่มีไส้แข็ง  สีอ่อนจาง  เหมาะกับงานร่างแบบ  ความแข็งของไส้ดินสอจะระบุเป็นตัวเลขกำกับไว้ เช่น H,  2H,  3H,  4H เป็นต้น
                                                B (Black) เป็นดินสอที่มีไส้อ่อน  สีเข้ม  เหมาะกับงานวาดรูปแรเงา  ความอ่อนและความเข้มจะเพิ่มขึ้นตามตัวเลข เช่น B,  2B,  3B,  4B,  5B,  6B  เป็นต้น
                                                HB  เป็นดินสอที่ใช้กันโดยทั่วไป  มีความแข็งและความเข้มปานกลาง
                                                6)   ดินสอสี บางทีเรียกว่า  สีไม้  มีลักษณะเหมือนดินสอดำทุกประการ  แต่ไส้ดินสอเป็นสีต่าง ๆ ใช้ในการวาดภาพระบายสี หรืองานออกแบบกราฟิกอื่น ๆ ได้สวยงาม
                                                7)   ดินสอเครยอง  เป็นดินสอที่มีส่วนผสมของดิน  สี  และไข ใช้การเขียนภาพระบายสีมากกว่าการเขียนตัวอักษร  และใช้เขียนได้ดีบนพื้นกระดาษเท่านั้น
                                                8)   ดินสอถ่าน  เป็นดินสอที่มีส่วนผสมของผงถ่านหรือผงฝุ่นสีดำกับกาว  ใช้ในการวาดภาพแรเงา  เป็นภาพขาว- ดำ

                                3.3.2   วัสดุอ่อน  ได้แก่  พู่กัน และแปรงทาสี
                                                1)  พู่กัน เป็นวัสดุอเนกประสงค์ในงานกราฟิกหรืองานศิลปะการออกแบบ เละงานจิตรกรรม  สามารถใช้ได้ทั้งสีเชื้อน้ำและเชื้อน้ำมัน  พู่กันมี 2 แบบ คือ  พู่กันกลม  ใช้ในการวาดภาพระบายสี  ขนปลายพู่กันอ่อนนิ่ม  มีหลายขนาดซึ่งกำหนดเป็นเบอร์  เช่น  0, 1, 2, 3, 4, 5,…12  และพู่กันแบน   เป็นพู่กันที่มีด้ามยาวใช้ในการเขียนตัวอักษร บางชนิดมีขนพู่กันแข็งและสั้นกว่าพู่กันกลม ช่วงปลายโลหะมีลักษณะแบนเพื่อความสะดวกในการเขียนเส้นขนาดเล็กและใหญ่สลับ กันอย่างต่อเนื่อง    พู่กันแบนมีหลายขนาดตั้งแต่เบอร์ 1 ถึง 24
                                                2)   แปรงทาสี  เป็นวัสดุที่มีขนแปรงแข็งด้ามสั้น  ใช้กับงานพื้นที่กว้าง ๆ งานที่ไม่ต้องการรายละเอียดามากนัก  แปรงทาสีมีตั้งแต่ขนาดความกว้าง 1 นิ้ว  ถึง  3  นิ้ว  ปัจจุบันหากเป็นพื้นที่กว้างมาก ๆ  เช่น ผนังตึก  กำแพง แผ่นไม้อัด มักจะใช้ลูกกลิ้งสีจะทำได้กว่าเร็วและสีเรียบกว่าการใช้แปรงทาสี

                   3.4   วัสดุอื่น ๆ
                               วัสดุอื่น ๆ ที่ใช้ในงานกราฟิกมีหลายชนิด  เช่น ไม้ฉากชุด  ไม้ที  มีดตัดกระดาษ  กาวน้ำ  กระดาษกาว  เทปกาว  กรรไกร  ไม้บรรทัด  เป็นต้น

งานกราฟิกในการเรียนการสอน

                ส่วนประกอบของงานกราฟิกที่สำคัญมี  2  อย่าง  ได้แก่  รูปภาพและตัวอักษร  ส่วนที่เป็นรูปภาพมีหลายประเภททั้งที่เป็นภาพเหมือนจริง  ภาพลายเส้น  และภาพการ์ตูน  ในการเรียนการสอนนิยมใช้ภาพการ์ตูนเป็นสื่อ  เพราะผลิตได้ง่ายและเป็นภาพที่กระตุ้นความสนใจได้ดี 

            1.   การ์ตูน

                       การ์ตูนเป็นภาพที่นิยมใช้ประกอบสื่อทัศนวัสดุต่าง ๆ ทั้งในวงการธุรกิจ  การค้า  การศึกษา  การประชาสัมพันธ์  ทำให้สื่อเหล่านั้นกระตุ้นความสนใจได้ดี


                        1.1   ความหมายของการ์ตูน

                  “การ์ตูน”  เป็นคำทับศัพท์ในภาษาอังกฤษว่า  “Cartoon”  สันนิษฐานว่ามีรากศัพท์มาจากภาษาอิตาลีว่า “Cartone” (คาโทเนหมายถึงแผ่นกระดาษที่มีภาพวาด  ต่อมาความหมายของคำนี้อาจเปลี่ยนไปเป็นภาพล้อเลียนเชิงขบขัน เปรียบเปรย เสียดสี หรือแสดงจินตนาการฝันเฟื่อง 
                The  Encyclopedia  American  ได้ให้ความหมายของการ์ตูนว่า  หมายถึงการเขียนภาพลายเส้นหรือสัญลักษณ์ที่มุ่งเหน็บแนมคนใดคนหนึ่ง  เพื่อแสดงอารมณ์ขบขันและให้เกิดความขบขันเป็นประการสำคัญ
                สรุปได้ว่า  การ์ตูน”  หมายถึง  ภายลายเส้นหรือภาพวาดที่มีลักษณะผิดเพี้ยนจากความจริง  แต่ก็ยังยึดหลักเกณฑ์ของความจริงอยู่บ้าง   เขียนขึ้นมาเพื่อการสื่อความหมายมุ่งให้เกิดอารมณ์ขันด้วยการล้อเลียน  เสียดสี  ประชดประชัน
                การ์ตูน เมื่อถูกนำมาใช้ในงานลักษณะต่างกันจะมีชื่อเรียกต่างกัน เช่น โคมิก  (comic ) หรือ  คาริคาเตอร์(caricature)  หรืออีลลัสเตรท  เทล ( illustrated  tale)  เป็นต้น
                comic  หมายถึง  การ์ตูนเรื่องที่มีเรื่องราวต่อเนื่องกันหลายภาพ  อาจเป็นตอน ๆ  ละ  2-4  ภาพหรือมากกว่า  เรียกว่า  การ์ตูนเป็นตอน  (comic  Strip)  ถ้าการ์ตูนเรื่องมีความยาวเป็นเล่มๆ  เรียกว่า  หนังสือการ์ตูน  (comic   book)   ลักษณะชอบภาพการ์ตูน  Comic  จะไม่เน้นความสมจริงของสัดส่วน แต่เน้นที่อารมณ์ขันจากเนื้อเรื่อง หรือภาพล้อเลียนที่มีสัดส่วนผิดปกติจากธรรมชาติไป
                Caricature   มาจากรากศัพท์เดิมคือ  Caricare  ซึ่งหมายถึงภาพล้อเลียนที่แสดงถึงการเปรียบเปรย  เสียดสี  เยาะเย้ย   ถากถาง  หรือให้ดูขบขันโดยเน้นส่วนด้อยหรือส่วนเด่นของใบหน้าตลอดจนบุคลิกลักษณะให้แตกต่างไปจากธรรมชาติที่เป็นจริง  ส่วนมากมักใช้เป็นภาพล้อทางการเมือง  บุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียง
                Illustrated  Tale  หมายถึง  นิยายภาพ  เป็นการเขียนเล่าเรื่องด้วยภาพ  เป็นภาพที่มีลักษณะสมจริงมีส่วนใกล้เคียงกับหลักกายวิภาค  ฉากประกอบและตัวละครมีแสงเงา  การดำเนินเรื่องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง  ทำให้สามารถโน้มน้าวใจผู้อ่านให้คล้อยตามได้เป็นอย่างดี

       1.2   การ์ตูนกับการเรียนการสอน

                       นักจิตวิทยาและนักการศึกษามีความเห็นพ้องต้องกันว่า   ภาพการ์ตูนมีความสำคัญต่อการ ศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะการ์ตูนมีคุณสมบัติพิเศษในการดึงดูดความสนใจของเด็กอย่างเห็นได้ชัด  ความสะดุดตาของการ์ตูนจะทำให้เด็กเกิดความกระตือรือร้น ไม่เบื่อง่าย  การใช้ข้อความที่มีภาพ ประกอบ จะได้รับความสนใจดีกว่าการใช้ข้อความเพียงอย่างเดียว 
       ปัจจุบันการ์ตูนได้เข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่งกับการเรียนการสอนและได้กลายเป็นสื่อการสอนที่ดีทำให้เด็ก ๆชอบ เพราะการ์ตูนให้ความบันเทิง ตลกขบขัน  สื่อความหมายให้เข้าใจได้ง่าย  การ์ตูนจึงถูกนำมาใช้กับสื่อการสอนต่างๆ  เช่น  แผนภูมิ  แผนภาพ  แผ่นโปร่งใส  ภาพโปสเตอร์  การจัดนิทรรศการ  เป็นต้น  การ์ตูนที่นำมาใช้กับการเรียนการสอนที่ดีควรมีลักษณะดังนี้คือ   สามารถสื่อความหมายได้ชัดเจน  เป็นภาพตลกขบขัน  ให้แง่คิดในทางที่ดี   เป็นภาพง่ายๆ  ใช้เส้นไม่มาก  ลากได้รวดเร็ว มีลักษณะเด่น  สวยงาม  สะอาดตา    ทำให้ผู้เรียนเกิดความประทับใจ

                       1.3   รูปลักษณะของการ์ตูน

                               ภาพการ์ตูนที่นำมาใช้กับสื่อการเรียนการสอนในปัจจุบันมี  ลักษณะได้แก่
                                1.3.1   การ์ตูนโครงร่างหรือการ์ตูนก้านไม้ขีด  (Match  -  Stick  Type)  เป็นการ์ตูนอย่างง่ายที่เขียนโดยใช้เส้นเดี่ยว ๆ  แสดงลักษณะท่าทางของสิ่งต่างๆ  ซึ่งอาจผิดเพี้ยนไปจากของจริง  แต่ใช้เพื่อความรวดเร็วในการเขียน   เหมาะสำหรับใช้เขียนประกอบการสอนโดยเขียนลงบนกระดานดำ  หรือเขียนบนสื่ออื่น ๆ  ได้
                          1.3.2   การ์ตูนล้อเลียนของจริง  (Cartoon  Type)  เป็นภาพที่เขียนบิดเบือนให้ผิดเพี้ยนไปจากความจริง  แต่ยังคงลักษณะเดิมของต้นแบบหรือของจริงไว้  เน้นลักษณะเด่นๆ  โดยมีจุดมุ่งหมายจะล้อเลียนให้เกิดอารมณ์ขัน การ์ตูนแบบนี้จะพบเห็นได้ทั่วไปในการล้อเลียนนักการ เมืองและบุคคลในหนังสือพิมพ์  นิตยสาร ภาพโฆษณา
 1.3.3   การ์ตูนเลียนของจริง  (Realistic  Type)  เป็นการ์ตูนที่มีลักษณะและสัดส่วนคล้ายกับของจริงตามธรรมชาติ  ทั้งสัดส่วน  รูปร่าง  ท่าทาง  และสภาพแวดล้อม  แต่ไม่ถึง กับเป็นภาพวาดเหมือนจริง  มีการตัดรายละเอียดที่ไม่ต้องการออกไปเพื่อให้ดูง่ายและสื่อความ หมายได้ความรู้สึกแตกต่างไปจากภาพเหมือนจริงทั่วไป
1.4   เทคนิคการเขียนภาพการ์ตูน

                                1.4.1 การเขียนภาพการ์ตูนลายเส้นธรรมดา  ดังที่กล่าวมาแล้วว่าการ์ตูนเป็นภาพเขียนผิดเพี้ยนไปจากรูปปกติธรรมดาเน้นให้เกิดอารมณ์ ขบขันจากการบิดเบี้ยวของเส้น สี รูปร่าง รูปทรง  ไม่เน้นความเหมือนจริงตามธรรมชาติ การฝึกเขียนการ์ตูนเบื้องต้นสำหรับผู้ที่ไม่เคยเขียนมาก่อน ควรคำนึงถึงปัจจัยที่สำคัญ  ดังนี้
                                1)   ความเชื่อมั่นในตนเอง ควรระลึกอยู่เสมอว่าการเขียนภาพให้ผิด เพี้ยนบิดเบี้ยวไปจากธรรมชาติย่อมเขียนได้ง่ายกว่าการเขียนภาพเหมือนจริง  เพราะไม่ต้องกังวลกับความถูกต้องของสัดส่วนต่างๆ แบบภาพเหมือนจริง   ในความเป็นจริงเราอาจเขียนภาพให้บิดเบี้ยว (distortion)  หรือภาพแบบนามธรรม (abstract) ก็ได้
                                2)   วัสดุเขียน  การใช้วัสดุเขียนที่ถาวรไม่สามารถลบได้ เช่น  ปากกา ลูกลื่น หรือ ปากกาหมึกซึม จะช่วยให้ผู้เรียนเขียนอย่างระมัดระวังใจจดใจจ่อ  ไม่ควรใช้ดินสอกับยางลบเนื่องจากการลบเป็นเหตุให้ขาดความตั้งใจ การเขียนภาพด้วยปากกาหากเส้นหรือรูปร่างบิดเบี้ยวไป ควรปล่อยให้เบี้ยวอยู่เช่นนั้นตลอดไป เพราะการบิดเบี้ยวเป็นคุณสมบัติที่ดีของการ์ตูนซึ่งก่อให้เกิด อารมณ์ขันได้เป็นอย่างดี
                                3)  ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเส้น  เส้นเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการเขียนการ์ตูน เส้นที่มีลักษณะสม่ำเสมอและต่อเนื่อง  จะให้ความรู้สึกมั่นคง  มีจุดหมายแน่นอน  เมื่อเขียนรูปภาพด้วยเส้นลักษณะนี้ก็จะทำให้รูปภาพมีความมั่นคงและชัดเจนไปด้วย
                                                4) ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับธรรมชาติของการเรียนรู้  การเลียนแบบ (imitation) เป็นวิธีการเรียนรู้ของมนุษย์อีกรูปแบบหนึ่งที่จะนำไปสู่การสั่งสมประสบการณ์แล้วเก็บไว้เพื่อเป็นพื้นฐานในการแปลความสิ่งเร้าที่จะรับรู้และเรียนรู้เรื่องใหม่ต่อไป  การเลียนแบบจึงเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่แตกต่างจากการลอกแบบ (copy) อย่างสิ้นเชิง
                                                5)  การถ่ายทอดจินตนาการเป็นรูปภาพโดยขาดทักษะประสบการณ์จะทำให้เกิดความอึดอัดมึนงงคิดไม่ออก  เมื่อเขียนภาพออกมาแล้วมักจะไม่ได้ดั่งใจต้องการ  ในที่สุดจะอ่อนล้า  ท้อถอยอาจเป็นเหตุให้เบื่อการเขียนภาพไปเลย  วิธีแก้ไขควรใช้กระบวนการเรียนตามธรรมชาติ  โดยการสังเกตภาพการ์ตูนแล้วลงมือเขียนตามสภาพจริงและตกแต่งได้ตามความคิดและจินตนาการ
                                                6)   การ์ตูนแสดงพฤติกรรมได้  2  ส่วนได้แก่  ส่วนใบหน้า  แสดงอารมณ์ต่างๆ  เช่น  ดีใจ  เสียใจ  โกรธ  ตกใจ   และส่วนลำตัว  แสดงอารมณ์กิริยาท่าทางต่างๆ  เช่น  เดิน  นอน  วิ่ง  กระโดด  เล่นกีฬา  แบกหาม  การฝึกเขียนภาพการ์ตูนอาจฝึกทีละส่วนแล้วนำมาประกอบกัน หรือเขียนกิริยาท่าทางให้ได้แล้วจึงฝึกเขียนอารมณ์ทางใบหน้าก็ได้ และโปรดจำไว้ว่าการหมั่นฝึกสังเกตผลงานการ์ตูนอย่างสม่ำเสมอจะทำให้เป็นนักเขียนการ์ตูนที่ดีมีความสามารถในการสร้างสื่อการเรียนการสอนประเภทวัสดุกราฟิกได้ด้วยตนเอง

                                1.4.2   การวาดภาพการ์ตูนเรื่อง   หลังจากผู้เรียนมีประสบการณ์ในการฝึกเขียนภาพการ์ตูนแบบทีละรูปด้วยปากกา จนมีทักษะและมีความมั่นใจแล้ว  ผู้เรียนควรพัฒนาประสบ การณ์และความมั่นใจให้สูงขึ้นไปตาม ลำดับด้วยการสร้างสรรค์ภาพการ์ตูนเป็นเรื่องราวที่มีเนื้อหาซับซ้อนมากขึ้นโดยมีข้อเสนอแนะดังนี้
                                                1)   ให้ผู้เรียนแต่ละคนศึกษาภาพการ์ตูนหลาย ๆ ภาพ จากแหล่งต่างๆ เช่น หนังสือการ์ตูนเด็ก  ภาพโฆษณา  กล่องสินค้า ฯลฯ  แล้วนำมาวาดรวมกันด้วยปากกาเป็นเรื่องราวในกรอบเดียวกันจัดภาพให้ดูสวยงาม ตามความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการของแต่ละคน
                                                2)  การจัดภาพที่มีลักษณะซ้อนบังกัน   ซึ่งควรมีขั้นตอนการเขียนตาม ลำดับคือการเขียนฉากหน้า(foreground) ฉากกลาง(middle ground)  และฉากหลัง  (background)  ดังภาพที่  8.5
                                                3)  เมื่อผู้เรียนฝึกเขียนการ์ตูนเรื่องราวเสร็จแล้ว แต่ละคนสามารถประ เมินตนเองได้โดยใช้หลักเกณฑ์การประเมินการวาดภาพการ์ตูนลายเส้น




1.4.3    การใช้สีไม้กับการ์ตูน   สีไม้เป็นสีแห้งมีคุณสมบัติเหมือนดินสอดำทั่วไป  แต่มีหลายสีสามารถเลือกใช้ได้ตามต้องการ  เป็นสีที่ใช้งานได้อย่างง่ายดายไม่ต้องผสมกับวัสดุใด ๆ เพียงแต่เหลาปลายให้แหลมก็ระบายสีได้ทันที  การระบายสีการ์ตูนด้วยสีไม้ให้ดูสวยงามมีวิธีการดังนี้
                                    1)   การจำแนกสี    เป็นการจัดสีเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อความสะดวกในการใช้งาน  โดยจำแนกเป็น 2 กลุ่ม คือ  สีวรรณะร้อน  และสีวรรณะเย็น
                                                กลุ่มสีวรรณะร้อน  ประกอบด้วยสีเป็นชุด ๆ ได้แก่   แดง-ส้ม-เหลือง       น้ำตาล-แดง-ส้ม      ดำ-น้ำตาล-แดง
                                                กลุ่มสีวรรณะเย็น  ประกอบด้วยสีเป็นชุด ๆ ได้แก่   เขียวแก่-เขียวอ่อน-เหลือง   น้ำเงิน-เขียวแก่-เขียวอ่อน     ดำ-น้ำเงิน-เขียวแก่
                                                กลุ่มสีอื่น ๆ เป็นสีที่ไม่อยู่ในวรรณะใดวรรณะหนึ่งโดยเฉพาะ สามารถใช้ได้กับสีวรรณะใดก็ได้ได้แก่  แดง-ม่วง-น้ำเงิน       ฟ้า-ชมพู
                                                2.)   การระบายสีไม้  การระบายสีการ์ตูนให้สวยงามด้วยสีไม้มีเทคนิคดังนี้การระบายสีบริเวณใดบริเวณหนึ่งที่มีขอบเขตเดียวกันควรระบายสีเป็นชุด  เช่น  ใบไม้  ใบ  อาจระบายด้วยสีชุด  ดำ-แดง-ส้ม  หรือ   น้ำเงิน-เขียวแก่-เขียวอ่อน  หรือ น้ำตาล-แดง-ส้ม ก็ได้ขึ้นอยู่กับจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคน
                ช่วงรอยต่อแต่ละสี ควรระบายให้กลมกลืนกันอย่างสนิท  โดยการเกลี่ยระบายแต่ละสีให้ทับซ้อนกันอย่างแผ่วเบา  ดังนั้นรอยต่อของสีแต่ละสีไม่ควรตัดกันเหมือนขนมชั้น
                ควรเหลาไส้สีไม้ให้แหลมคมอยู่เสมอ  และขณะระบายควรตั้งสีไม้ให้ตรงประมาณ 85-90 องศา จะทำให้ได้สีสดใสแจ่มชัดกว่าปลายไส้ไม่แหลมและการวางแท่งสีไม้แบบเอียง ๆ
                                                การระบายสีให้ดูสดใสโดดเด่นได้สีอิ่มเต็มที่  ควรระบายประมาณ  2-3  รอบ  โดยระบายรอบแรกให้แผ่วเบาและค่อยๆ  เน้นหนักในรอบที่ 2 และ ตามลำดับ
เมื่อระบายสีเสร็จแล้ว  ผู้เรียนสามารถประเมินผลด้วยตนเองได้โดยอาศัยตารางการประ เมินผลการวาดระบายสีการ์ตูนด้วยสีไม้เป็นแนวทาง

1.5   ประโยชน์ของการเขียนภาพการ์ตูน

                                จะเห็นได้ว่าการเขียนภาพการ์ตูน   เป็นกิจกรรมที่พัฒนาความสามารถของผู้เรียนได้ในทุกด้านดังต่อไปนี้
                                1.5.1  ด้านร่างกาย  กิจกรรมการเขียนภาพการ์ตูนพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกล้ามเนื้อมือกับประสาทตาได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเขียนภาพแบบโครงร่างของนอก(Contour  Drawing)  เป็นการฝึกเพื่อเชื่อมโยงการรับรู้สู่การสัมผัสและถ่ายทอดออกมาเป็นรูปธรรม เมื่อฝึกฝนจนชำนาญก็จะมีประโยชน์ในการปฏิบัติงานในลักษณะนี้ได้อย่างคล่องแคล่ว
                                1.5.2 ด้านอารมณ์ กิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นให้มีบรรยากาศแห่งความสำเร็จ  ย่อมส่งผลให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ    อารมณ์ดี  จิตใจผ่องใส   การเขียนภาพการ์ตูนเป็นกิจกรรมที่ประสบผลสำเร็จได้ง่าย  เนื่องจากการ์ตูนเป็นภาพอิสระสามารถเขียนให้บิดเบี้ยวได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงสัดส่วนเหมือนจริง เพราะโดยธรรมชาติของภาพการ์ตูนยิ่งบิดเบี้ยวมากเพียงใดก็ยิ่งกระตุ้น อารมณ์ขันได้มากถึงเพียงนั้น
                                1.5.3 ด้านสังคม กระบวนการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  ผู้ เรียนมีโอกาสแสดงออก  ช่วยกันสรุปประเด็นต่างๆ เป็นส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคมไปในตัว  การปฏิบัติงานเขียนภาพการ์ตูน ผู้เรียนมีอิสระเดินไปมาได้ ขณะเดียวกันได้ชื่นชมผลงานของเพื่อนๆ  อาจมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน
                                1.5.4  ด้านสติปัญญา กิจกรรมการเขียนการ์ตูนส่งเสริมความสามารถผู้ เรียนด้านสติปัญญาได้มาก  เริ่มตั้งแต่การรู้จักสังเกต  ความเข้าใจเนื้อหาบทเรียน  การเรียนรู้องค์ประกอบสำคัญและวิธีการวาดภาพการ์ตูนให้มีประสิทธิภาพ  การเรียนรู้ความสัมพันธ์ของวัสดุที่ใช้ขีดเขียนกับความตั้งใจอย่างจดจ่อ  และเรียนรู้ถึงความจริงที่เป็นธรรมชาติของการ์ตูน  การ์ตูนต้องเป็นภาพบิดเบี้ยวไม่เหมือนจริงซึ่งใคร ๆ ก็สามารถฝึกเขียนได้ เป็นวิธีคิดที่ไม่ติดยึดกับความกังวลกันเป็นผลมาจากความเชื่อเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้นั่นเอง นอกจากนี้การเขียนการ์ตูนยังทำให้ผู้เรียนเกิดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ในการที่จะสื่อภาพออกมาให้น่ารักสวยงามหรือมีอารมณ์ขันอีกด้วย

            2.   ตัวอักษร

                ตัวอักษรเป็นองค์ประกอบหนึ่งของวัสดุกราฟิกที่สามารถสื่อความหมายได้ด้วยการอ่านของผู้เรียน  ตัวอักษรประดิษฐ์มีลักษณะแตกต่างจากตัวอักษรมาตรฐานที่ใช้ในเอกสารทางราชการหรือตำราเรียนทั่วไป  มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นความสนใจทำให้รับรู้ได้ชัดเจน และเน้นสาระสำคัญ  การประดิษฐ์ตัวอักษรสามารถทำได้ 2 วิธีคือ การประดิษฐ์ด้วยมือโดยตรง และการใช้เครื่องมือหรือวิธีการอื่น ๆ ซึ่งแต่ละวิธีมีรายละเอียดดังนี้

                       2.1   การประดิษฐ์ด้วยมือโดยตรง
 
                เป็นวิธีที่สะดวกที่สุด  เพียงใช้วัสดุสำหรับเขียน เช่น  พู่กัน  ดินสอ  ปากกา  ขีดเขียนลงบนวัสดุรองรับได้เลย  แต่การประดิษฐ์ตัวอักษรโดยวิธีนี้ต้องฝึกฝนบ่อย ๆ จึงจะเกิดความชำนาญ
                                2.1.1 การประดิษฐ์ตัวอักษรด้วยพู่กันแบน พู่กันแบนเป็นวัสดุเขียนที่มีขนแปรง อ่อนนิ่มมีประโยชน์ในการใช้งานอย่างกว้างขวาง สามารถใช้เขียนได้กับวัสดุรองรับแทบทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นกระดานโลหะ  พลาสติก  ไม้  ผนังปูน  การประดิษฐ์ตัวอักษรด้วยพู่กันแบนสามารถเขียนตัวอักษรได้ทั้งแบบพับผ้าและแบบเส้นขอบขนาน การประดิษฐ์ตัวอักษรด้วยพู่กันแบนให้ได้ผลดีมีวิธีการดังนี้
                                                1)   นั่งตัวตรงตามสบาย  ไม่ให้ลำตัวชิดกระดาษมากเกินไป
                                                2)   วางกระดาษให้ตรงกับขอบโต๊ะและค่อนไปทางขวามือเล็กน้อย
                                                3)   หลังจากจุ่มสีแล้ว จับพู่กันให้กระชับมือเหมือนจับปากกาทั่ว ๆ ไป
                                                4)   ตั้งพู่กันประมาณ 80 90 องศา ให้สันมือเป็นส่วนสัมผัสกระดาษ
                                                5)   ลากพู่กันด้วยการเคลื่อนไหวข้อศอกกับหัวไหล่
                                                6)   การลากพู่กันควรลากจากบนลงล่างและซ้ายไปขวา                                                                             7)   การลากเส้นควรลากด้วยอิริยาบทสบาย ๆ ไม่ควรเกร็งนิ้วหรือแขน
                                                8)   การเขียนคำหรือประโยคควรชำเลืองดูตัวอักษรซ้ายมือเสมอ

 
                                                9)  การสังเกตเส้นสี  ถ้าเส้นขาด ๆ หาย ๆ เป็นเส้นแตก แสดงว่าสีข้นเกินไป แต่ถ้าเส้นที่บางใสปลายเส้นมีน้ำนองแสดงว่าสีเหลวเกินไป    อย่างไรก็ตามผู้เรียนต้องหมั่นฝึกฝน สังเกตและปรับ ปรุงให้ได้ผลงานที่ดี
อยู่เสมอ





2.1.2   การประดิษฐ์ตัวอักษรหัวเรื่อง   ตัวอักษรหัวเรื่องมีประโยชน์ในการสรุปเนื้อหาเป็นข้อความสั้น ๆ  กระชับ  กระตุ้นความสนใจด้วยความหมายที่ทำให้ฉงนสนเท่  แต่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวทั้งหมดไม่ทางตรงก็ทางอ้อม   ลักษณะตัวอักษรหัวเรื่องมี  2  แบบ  ได้แก่  แบบเส้นคู่ขนาบ  และแบบบรรทัด  6  เส้น
                   1)   แบบเส้นคู่ขนาบ  มีขั้นตอนในการทำอย่างง่าย ๆ โดยการลากเส้นแกนเป็นข้อความด้วยตัวอักษรธรรมดา ให้มีขนาดใหญ่และช่องไฟห่างกว่าปกติมาก ๆ เสร็จแล้วลากเส้นขนาบเส้นแกนตลอดแนวตัวอักษรแต่ละตัวจนครบถ้วน จากนั้นจึงเป็นขั้นการตกแต่งให้สวยงามดังภาพที่  8.10
                      2)   แบบบรรทัด  6  เส้น  มีวิธีประดิษฐ์ให้สวยงามได้โดยอาศัยบรรทัดทั้ง  6  เส้น  และช่อง  5  ช่องสำหรับบรรจุตัวอักษร  การประดิษฐ์ตัวอักษรด้วยวิธีนี้ต้องใช้แบบหรือฟอนท์ (font)  จากคอมพิวเตอร์หรือชิ้นงานสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ เป็นแม่แบบในการประดิษฐ์หรือฝึกฝน  ผู้ที่ไม่คุ้นเคยหรือขาดประสบการณ์ในการออกแบบควรหลีกเลี่ยงการคิดหรือการประดิษฐ์เอง โดยไม่ใช้แบบตัวอย่าง  เพราะอาจทำให้ได้ตัวอักษรที่ไม่ได้สัดส่วนที่ดี   ดูแล้วไม่สวย  อาจทำให้หมดกำลังใจหรือมีเจตคติคติไม่ดีต่อการออกแบบงานกราฟิก  การประดิษฐ์ตัวอักษรหัวเรื่องด้วยบรรทัด  6  เส้น  

       2.2   การประดิษฐ์ตัวอักษรด้วยเครื่องมือ 

                                 เครื่องมือที่ใช้ในการประดิษฐ์ตัวอักษรมีหลายชนิดนับตั้งแต่เครื่องมือพื้นฐาน เช่น  เท็มเพลท (template)  ตัวอักษรลีรอย (leroy)  ตัวอักษรลอกหรือเล็ตเตอร์เพรส (letter press) จนถึงเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพในการใช้งานสูง  เช่น  คอมพิวเตอร์  เป็นต้น
                                2.2.1   ตัวอย่างเครื่องมือที่ใช้ในการประดิษฐ์ตัวอักษร  มีดังนี้
                                                1)    เท็มเพลท   เป็นแบบตัวอักษรที่เจาะทะลุเป็นตัว ๆ บนแผ่นพลาสติกบาง ๆ ตัวอักษรมีหลายขนาด   เมื่อต้องการใช้ก็วางตัวอักษรบนเท็มเพลทให้ได้ตำแหน่งที่ต้องการแล้วร่างดินสอหรือปากกาตามแบบตัวอักษรดังกล่าว จึงนับเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ใช้ได้ง่ายที่สุด
                                                2)    ตัวอักษรลีรอย  เป็นร่องตัวอักษรบนไม้บรรทัด  การใช้งานต้องใช้คู้กับเครื่องเขียนตัวอักษรลีรอย  หรือที่เรียกว่า  ก้ามปู  โดยใช้ขาก้ามปูลากไปตามร่องตัวอักษร  ส่วนปลายอีกด้านหนึ่งของก้ามปูจะยึดปากกาเขียนแบบไว้อย่างแน่นกระชับก็จะเคลื่อนเป็นรูปตัวอักษรตามขาของก้ามปูที่เคลื่อนไปตามร่องแบบตัวอักษร
                                                3)   เล็ตเตอร์เพรส  เป็นตัวอักษรบนแผ่นพลาสติกมีหลายแบบหลายขนาด  สามารถลอกติดกระดาษได้อย่างง่ายดาย 
                ปัจจุบันเครื่องพื้นฐานเหล่านี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมเหมือนในอดีต   เพราะมีเครื่องมือหรือวิธีใหม่ ๆ ที่ที่มีประสิทธิภาพในการประดิษฐ์ตัวอักษรได้ดียิ่ง
                                                4)    เครื่องคอมพิวเตอร์   เป็นเครื่องที่มีประโยชน์ในการใช้งานแทบทุกสาขาอาชีพ โดยเฉพาะการออกแบบกราฟิกคอมพิวเตอร์สามารถตอบสนองจิตนาการ  หรือความคิดสร้างสรรค์ของนักออกแบบได้อย่างไร้ขีดจำกัด   แม้ผู้ที่ขาดทักษะการประดิษฐ์ตัวอักษรก็สามารถออกแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพียงแต่มีความรู้พื้นฐานในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยว ข้องกับงานกราฟิกก็สามารถผลิตงานกราฟิกได้อย่างสวยงาม  เช่น  โปรแกรมพาวเวอร์พอยท์   โปรแกรมโฟโต้ช็อฟ    โปรแกรมอีลลาสเตรเตอร์  เป็นต้น

บทสรุป

                งานกราฟิกเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการวาดภาพและตัวอักษรเพื่อการสื่อความหมายและเป็นพื้นฐานการออกแบบตกแต่งสื่อประเภททัศนวัสดุทุกชนิด   ในการออกแบบงานกราฟิกต้องคำนึงถึงองค์ประกอบศิลป์  ได้แก่  เส้น  รูปร่างและรูปทรง  พื้นผิว  ขนาด  สี    การจัดองค์ประกอบศิลป์  ได้แก่  การสร้างความสมดุล   ความเป็นเอกภาพ  การเน้น   นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงวัสดุที่ใช้ในงานหราฟิก  เช่น  กระดาษ  ดินสอ   สี  พู่กัน  ประกอบด้วย    งานกราฟิกที่นำมาใช้ในการเรียนการสอนได้แก่  รูปภาพและตัวอักษร   รูปภาพที่ประดิษฐ์ได้ง่ายและช่วยกระตุ้นความสนใจได้ดีได้แก่  ภาพการ์ตูน  ซึ่งเป็นภาพเขียนที่ผิดเพี้ยนไปจากภาพปกติ   เน้นให้เกิดอารมณ์ขัน   ผู้เขียนภาพไม่ต้องกังวลเรื่องความถูกต้องเหมือนจริง   ทั้งภาพการ์ตูนและตัวอักษรสามารถประดิษฐ์ได้ด้วยมือโดยตรงและการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ซึ่งต้องการการฝึกฝนจนชำนาญจึงจะใช้งานได้ดี

คำถามทบทวน

1.             องค์ประกอบศิลป์ประกอบด้วยอะไร  แต่ละอย่างสื่อความหมายอย่างไร
2.             จงชื่อสีให้ตรงตามตำแหน่งในวงล้อสี
3.             จงอธิบายถึงการจัดองค์ประกอบศิลป์
4.             วัสดุพื้นฐานที่ใช้ในงานกราฟิกได้แก่อะไรบ้าง บอกมา  5  อย่าง
5.             จงอธิบายความหมายของคำว่า  การ์ตูน
6.             จงเขียนภาพการ์ตูนอย่างน้อย  1  แบบ
7.             การเขียนภาพการ์ตูนมีประโยชน์อย่างไร
8.             การใช้สีไม้ให้ได้ผลดีมีวิธีการอย่างไร
9.             จงออกแบบตัวอักษรหัวเรื่องอย่างน้อย  3  แบบ
10.      จงออกแบบสื่อกราฟิกที่ใช้ในการเรียนการสอนอย่างน้อย  2  ชิ้น

หนังสืออ้างอิง

วิวรรธน์   จันทร์เทพย์. ( 2533 ). เอกสารประกอบการอบรมกราฟิกเพื่อการศึกษา.  ราชบุรีคณะ
         วิชาครุศาสตร์   วิทยาลัยครูหมู่บ้านจอมบึง.
วิวรรธน์   จันทร์เทพย์. ( 2540 ). เทคโนโลยีการศึกษา.  ราชบุรีธรรมรักษ์การพิมพ์.
วิวรรธน์   จันทร์เทพย์. ( 2542 ). เทคโนโลยีการศึกษา.  ฉบับเฉลิมพระเกียรติ.  ราชบุรีสถาบัน  
         ราชภัฏหมู่บ้านบึง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น